NEWSROOM

  • Increase company value by investing in people
    2016-04-27 13:43:55

    กว่าจะมาเป็นซุปตาร์ขวัญใจแรงงาน

    เป็นอีก 1 วันที่ผู้ใช้แรงงานต่างก็รอคอยในแต่ละปี นั่นก็คือ “วันแรงงานแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อเป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในคุณภาพ ความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานทุกคน เพราะแรงงานถือเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลผลิต พลังของผู้ใช้แรงงานจะแฝงอยู่ในผลผลิตทุกชิ้น ดังนั้นความมั่นคงก้าวหน้าหรือความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ แรงงานย่อมมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีผู้ใช้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทั้งในด้านผลประโยชน์ค่าตอบแทน และสวัสดิการ ผู้ใช้แรงงานหลายคนถือโอกาสดีนำวันนี้มาเป็นข้อเรียกร้องความเป็นธรรมจากนายจ้างทางด้านต่างๆ ซึ่งก็ถือว่าได้ผลดีเยี่ยมมาโดยตลอด

        ที่สำคัญวันนี้ผู้ใช้แรงงานอีกจำนวนไม่น้อยก็ถือโอกาสเป็นวันพักผ่อนอย่างจริงจัง หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาตลอดทั้งปี ดังนั้นวันแรงงานแห่งชาติ ปีนี้ จะขอหยิบยกตัวอย่างศิลปินคนสู้ชีวิตที่ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาอย่างโชกโชน กว่าจะเป็นที่ยอมรับของแฟนเพลง และเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ อยู่ในขณะนี้ เริ่มจาก   

     

    ไมค์ ภิรมย์พร

        กับผู้ชายคนนี้ที่ชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องของ ขวัญใจผู้ใช้แรงงาน กว่าที่จะก้าวมายืนอยู่ตรงจุดนี้ที่หลายคนรู้จัก เขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปประการ ผ่านงานมาหลากหลายอาชีพ อาทิเช่น รปภ. , พนง.รับรถ , กรรมกรก่อสร้าง , เด็กนวดตามห้องน้ำ , เด็กตักน้ำแข็ง , บาร์เทนเดอร์ ฯลฯ  แต่เขาก็ไม่เคยย่อท้อในโชคชะตา ชีวิตจับพลัดจับผลู ล้มลุกคลุกคลานจากคนที่ไม่มีใครรู้จัก จนวันนี้กลายเป็น ขวัญใจผู้ใช้แรงงาน ไมค์ ภิรมย์พร ศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งใน และต่างประเทศ หนึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ ไมค์ ภิรมย์พร ยังคงเป็นขวัญใจผู้ใช้แรงงานได้เป็นอย่างดี ก็คงเป็นเพราะความไม่หลงแสง สี เสียง คำเยินยอจากคนรอบข้าง และด้วยความที่เป็นลูกชาวนามาก่อนทำให้ ไมค์ ระลึกถึงวันที่ครอบครัว พ่อแม่พี่น้องยากลำบาก และได้นำอาชีพศิลปินไปต่อยอด เรียนรู้หลักเกษตรทฤษฎีใหม่ การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เพื่อนำไปพัฒนาชุมชน พัฒนาบ้านเกิดของตนเอง และยังนำความรู้ตรงนี้เผยแพร่ให้กับพ่อแม่พี่น้องที่ทำไร่ไถนา ได้ทราบถึงการทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่แบบไม่หวงวิชาอีกด้วย

     

    มนต์แคน แก่นคูน

        สิบเอกกิตติคุณ บุญค้ำจุน หรือ มนต์แคน แก่นคูน เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ชีวิตในวัยเด็กไม่ได้สวยหรูหรือสะดวกสบายเหมือนคนอื่นๆ ด้วยความที่ชีวิตในวัยเด็กครบครัวของมนต์แคน มีอาชีพทำนาเป็นหลัก ทำให้ต่อดิ้นรน เพื่อตัวเองและครอบครัวเข้ามาหางานทำในกรุงเทพตั้งแต่อายุ 14 ปี เป็นทั้งเด็กอู่ , รับจ้างตอกเสาเข็ม , แบกหามทุกชนิดทำมาหมด จากที่เคยได้ค่าแรงวันละ 90 บาท แต่ด้วยความเพียร อดทน ทำให้นายจ้างเห็นใจเพิ่มค่าแรงให้เป็นวันละ 150 บาท (สูงสุดในสมัยนั้น) นอกจากนี้ยังรับจ้างร้องเพลงตามสวนอาหารในเวลากลางคืนอีกด้วย จนพออายุครบเกณฑ์ทหารปรากฎว่าจับได้ใบแดง ต้องเข้าเป็นทหารกองประจำการที่ กองทัพภาคที่ 1 กรุงเทพฯ โดยไปประจำหน่วย ขสทบ.สะพานแดง บางซื่อ โดยในระหว่างที่เป็นทหารเขาก็ลงเรียน กศน. จนได้วุฒิม.3 จึงได้นำวุฒินั้นไปสมัครสอบเป็นลูกจ้างกลาโหม ในตำแหน่งเสมียนเหมือนเดิม และเรียน กศน. ต่อจนได้วุฒิ ม.6 ช่วงที่รับราชการทหาร มนต์แคน ก็ยังรับหน้าที่นักร้องประจำค่ายอีกด้วย จนทุกวันนี้ วันนี้มนต์แคน ประสบความสำเร็จ เขาก็ยังคงเป็นทั้งนักร้อง และทหารได้เป็นอย่างดี โดยสังกัด กรมการขนส่งทหารบก สะพานแดง บางซื่อ ตำแหน่งเสมียน และตอนนี้ยังช่วยราชการอยู่ที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคง จ.ร้อยเอ็ด (กอ.รมน. ร้อยเอ็ด) และถ้าว่างจากงานคอนเสิร์ตก็จะอยู่กับสวนมะนาวที่ตนเองลงแรงปลูก และได้ว่าจ้างคนในชุมชนให้ช่วยกันดูแล เป็นการหารายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย

     

    ไผ่ พงศธร

        จากเด็กบ้านสร้างแต้ อ.กุดชุม จ.ยโสธร ที่อาศัยเพิงกระต๊อบอยู่กับครอบครัว หาเช้ากินค่ำด้วยการร้องเพลงหมอลำแลกข้าวประทังชีวิตไปวันๆ ด้วยความที่เป็นลูกชายคนเดียวของบ้าน จึงต้องรกระเหินเร่ร่อนเข้ามาหางานทำในเมืองกรุง เป็นทั้ง เด็กเสิร์ฟร้านลาบ , เด็กล้างจาน , พนักงานทำความสะอาด เรียกได้ว่าหนักเบาเอาสู้ ไม่เคยเกี่ยงงาน โดยไผ่ได้ยึดหลักความสู้ชีวิตมาจาก พี่ไมค์ ภิรมย์พร ไอดอลขวัญผู้ใช้แรงงาน โดย ณ ขณะนั้นเจ้าตัวก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชีวิตข้างหน้า จะได้มาอยู่ร่วมชายคาเดียวกันกับไอดอลของตัวเอง หลังจากไผ่ พงศธร เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงทั่วประเทศแล้ว แต่เขาก็ยังคงใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย และยังได้นำความเจริญเข้าสู่ชุมชน บ้านเกิดของตัวเองอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เพียงเพราะตัวเองคิดว่า เราพอมีทุนทรัพย์ เลยอยากที่จะพัฒนาชุมชนของตัวเองให้อยู่ดี เพื่อพ่อแม่พี่น้องในชุมชนทุกคนต่อไป

     

    ศิริพร อำไพพงษ์

        เด็กต่างจังหวัดที่ถือเป็นครอบครัวใหญ่ เพราะมีพี่น้องร่วมอีก 10 ชีวิต ทำให้พี่นางในสมัยนั้นไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานหาเงินจุนเจือครอบครัว ไม่ว่าจะรับจ้างดำนา , นำแตงโม แตงกวา ไปแลกข้าวกิน , เป็นนางเอกในวงหมอลำ รวมไปถึงบางวันก็เป็นหางเครื่อง เมื่ออายุ 25 ถือว่าเป็นจุกเปลี่ยนในชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ เพราะคุณพ่อกองมี ซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวเสียชีวิตลง ทำให้พี่นางต้องกลับบ้านมาทำไร่ ทำนา และอยู่เป็นเพื่อนแม่อีก 3 ปี ก่อนที่ทุกคนจะรู้จัก ศิริพร อำไพพงษ์ จากเพลงโบว์รักสีดำ นั่นเอง ซึ่งทุกวันนี้ถึงแม้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่นาง ศิริพร จะสุขสบายแล้วก็ตาม แต่พี่นางก็ไม่เคยลืมความยากลำบากที่ตัวเองเคยเผชิญมาสักครั้ง และยังคงระลึกอยู่เสมอว่าความลำบากสอนให้เราเข้มแข็ง และอดทน ซึ่งถือเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่ไม่สามารถหาได้ในชั้นเรียน ซึ่งพี่นางจะนำหลักการใช้ชีวิตของตนเองไปสอนเด็กในวงและคอยเตือนสติทุกคนอยู่เสมอ จากพี่นาง ศิริพร ก็กลายเป็น แม่นาง ศิริพร ของใครหลายคน

     

    ต่าย อรทัย

        อีกหนึ่งศิลปินที่เคยผ่านหลากหลายอาชีพกับคำว่าผู้ใช้แรงงานมาอย่างโชกโชน สืบเนื่องมาจาก ต่าย อรทัย เป็นลูกสาวคนโตที่ต้องรับหน้าที่ดูแลน้องชายอีก 3 คนและเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระพ่อกับแม่ ตนก็ต้องรับจ้างร้องเพลงได้ค่าจ้างเดือนละ 400-500 ซึ่งขณะนั้นต่ายก็ยังคงเรียนไปด้วย หลังจากที่จบชั้น ม. 6 จึงได้จากบ้านเกิดเมืองนอน ที่ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี มาอยู่กับแม่ที่กรุงเทพตามไซน์ก่อสร้าง ต่ายมีหน้าที่รับจ้างซักผ้าให้กับคนงานก่อสร้าง พอโตมาหน่อยก็ไปเป็นลูกจ้างในโรงงานผลิตยา พอมีเงินทุนมาหน่อยก็ซื้อสื้อผ้าและตระเวนขายเสื้อผ้าตามตลาดนัด ในขณะเดียวกันก็ยังคงหมั่นประกวดร้องเพลงไปเรื่อย จนได้มาเป็น ต่าย อรทัย ที่ทุกคนรู้จักในทุกวันนี้ ซึ่งถึงแม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว ต่ายก็ยังคงไม่ถึงการเรียน สู่กัดฟันร้องเพลงไปด้วย และเรียนไปด้วยจนจบ ปริญญาตรี เรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนสู้ชีวิตอีกหลายคนได้อย่างดีเยี่ยม

     

        ทั้งหมดถือเป็นแค่ตัวอย่างการสู้ชีวิตของเหล่านักร้องขวัญใจแรงงาน ยังมีอีกหลายศิลปินที่ชีวิตไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ กว่าจะมาเป็นซุปตาร์ลูกทุ่งในทุกวันนี้ต่างก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมานับไม่ถ้วน หวังว่าบทเรียนชีวิตของศิลปินที่กล่าวมาข้างต้นคงเป็นแรงผลักดัน และเป็นกำลังใจให้กับผู้ใช้แรงงานทุกคนที่กำลังท้อแท้ในชีวิตได้ไม่มากก็น้อย